เดินทางช่วงปลายมิถุนายน 2019 ระยะเวลา 4 วัน
เวนิซเป็นเมืองในฝันของคนทั่วโลก เต็มไปด้วยตึกโบราณที่งามสง่าและสะพานเก่าแก่สวยงามจากศตวรรษที่ 14 มนต์เสน่ห์ของเมืองเก่านี้ทำให้ผู้ที่ไปเยือนต้องกลับไปเยือนอีก ส่วนตัวมีโอกาสได้ไปเยือนเมืองแห่งสายน้ำนี้ 4รอบ เพิ่งจะได้ไปเยือนในหน้าร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดเป็นครั้งแรก เคยคิดเสมอว่าอยากจะใช้เวลาเที่ยวเวนิซแบบละเอียดสักครั้ง เดินให้ครบทุกมุมของเกาะ และนั่งเรือไปเที่ยวตามจุดต่างๆ ซึ่งในช่วงหน้าร้อนจะสะดวกที่สุด ถ้าทนความร้อนจากเปลวแดดไหว (อุณหภูมิเฉลี่ย 16-30 องศาในฤดูร้อน) เพราะร้านต่างๆและโรงแรมไม่ได้มีแอร์ทุกที่
เวนิซได้รับฉายาว่า Queen of the Adriatic ราชินีแห่งทะเลเอเดรียติก ถูกสร้างขึ้นจากการเชื่อมเกาะเล็ก ๆ จำนวนมากเข้าด้วยกันในบริเวณทะเลสาบเวนิเทีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Adriatic Sea ทะเลเอเดรียติก ปัจจุปันมีผู้อยู่อาศัยโดยประมาณ 3 แสนคน บนพื้นที่ 415 ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 27ล้านคน/ปี (เล็กกว่าภูเก็ตที่มีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตร มีผู้อยู่อาศัย 4.5แสนคน และจำนวนนักท่องเที่ยว 9ล้านคน/ปี) เรียกได้ว่าทุกพื้นที่ในเวนิซมีแต่นักท่องเที่ยว
เวนิซเคยเป็นรัฐที่เป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับใครที่มีกำลังทหารของตนเองอยู่ถึง 1,100ปี ในช่วง ค.ศ. 697-1797 ซึ่งมีผู้ปกครองเป็น Doge หรือ Duke ตำแหน่งขุนนางขั้นดยุค และถูกเลือกโดยสภาเมือง แรกเริ่มเลยเวนิซเป็นพื้นที่ที่นักโทษหนีมาหลบภัยในยุคจักรวรรดิ์โรมัน และต่อมารุ่งเรืองขึ้นจากการเป็นเส้นทางค้าเกลือ ซึ่งในยุคนั้นเกลือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่ห่างไกลไม่สามารถผลิตเกลือได้ ต่อมาเวนิซกลายเป็นผู้คุมเส้นทางเครื่องเทศ Spice Trade จากการทำสัญญาผูกขาดกับชาติอาหรับโดยนำเข้าเครื่องเทศจากอินเดียผ่านเส้นทางอาหรับ จนทำให้สเปนและโปรตุเกสยอมไม่ได้ถึงกับต้องบุกเบิกเส้นทางเดินเรือใหม่เองเพื่อหาเครื่องเทศ และจับผลัดจับพลูค้นพบทวีปอเมริกา และกลายเป็นมหาอำนาจทางเดินสมุทร หลังจากศตวรรษที่ 17 เวนิซมีความสำคัญน้อยลงเพราะไม่สามารถแข่งขันในเส้นทางการค้าใหม่เหล่านั้นได้ และเมื่อเทียบกับเมืองเกิดใหม่เช่นลิสบอน ลอนดอน และอัมเตอร์ดาม ที่มั่งคังจากการเดินเรือสมุทร เวนิซจึงเริ่มหันมาเน้นตลาดสินค้าหรูหราแทน และเมื่อถึงปลายศควรรษที่ 18 เวนิซต้องล่มสลายจากการเข้ายืดครองของนโบเลียนแห่งฝรั่งเศส และเมื่อสิ้นสุดยุคของนโบเลียนเวนิซถูกกลื่นเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี
Piazza San Marco จัตุรัสเซนต์มาร์ค
Piazza San Marco หรือ St. Mark’s Square คือศูนย์กลางของเวนิซ จัตุรัสนี้มีอาคารล้อมสามทิศ มีทางเดินรอบ เป็นเอกลักษณ์ด้วยประตูโค้งสไตล์ Romanesque นับร้อย มีร้านค้าต่างๆ น่าเดินรวมไปถึงคาเฟ่ในตำนาน Cafe Florian และในชั้นสองด้านทิศตะวันตกของจัตุรัสคือ พิพิธภัณฑ์ Correr จัดแสดงงานของศิลปินชาวเวนิซ ถนนด้านหลังของพิพิธภัณฑ์คือร้านแบรนด์เนมหรู แค่เดินผ่านกระจกร้านก็สวยแล้ว โดยตอนกลางคืนแสงไฟในตู้โชว์ก็งาม
จตุรัสเซนต์มาร์คนี้ถูกสร้างในปลายศตวรรษที่ 12 โดย Sebastiano Ziani ซึ่งเป็นผู้ครองแคว้นในยุคนั้น สถานที่สำคัญ landmark ในเวนิซตั้งอยู่ในจตุรัสนี้ทั้งหมด ได้แก่ โบสถ์ St Mark's basilica พระราชวัง Doge’s Palace หอคอย The Campanile หอสมุด Biblioteca พิพิธภัณฑ์ Correr สะพาน Bridge of Sighs รูปปั้นบนเสาอันเป็นสัญลักษณ์ของเวนิซ The Lion of Venice และ St Theodore สำหรับคนที่ไม่มีเวลา แค่ได้มาจตุรัสนี้ที่เดียวก็จบ เพราะถือว่า highlight ของเมืองเวนิซอยู่ที่นี้หมด เวลาโดยทั่วไปพื้นที่ตรงนี้จะเต็มไปด้วยผู้คน แนะนำว่าให้มาเช้าๆสัก 7-8 โมงก่อนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามา และหลังพระอาทิตย์ตกดินอีกครั้งเพื่อชมบรรยกาศยามเย็น
(ชมภาพยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night)
St Mark’s Basilica มหาวิหารเซนต์มาร์ค
การออกแบบวิหารนี้ใช้สีทองและโมเสกในการตกแต่งจำนวนมากเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งของเวนิซ สร้างในศตวรรษที่ 11 ผสมผสานศิลปะตั้งแต่ไบเซนไทน์ โรมาเนสก์ โกธิค และเรอเนสซองซ์ ตัวโดมของโบสถ์มีลักษณะคล้ายคลึงกับหลังคาทัชมาฮาลของอินเดีย ถือเป็นเอกลักษณ์ของการก่อสร้างแบบเวนิซ ด้วยความที่ใช้สีทองอร่ามตั้งแต่หลังคาจรดพื้น จึงได้รับสมญานามว่า “Church of Gold” คนที่ชอบความอลังการและหรูหราไม่ควรพลาด
(ชมภาพยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night)
Doge’s Palace/ Palazzo Ducale
ตั้งแต่มีการแต่งตั้ง Doge ใน ค.ศ. 810 ก็มีการสร้างที่ทำการสำหรับ Doge โดยเดิมที่ที่ทำการเก่าอยู่ตรงแถว Rialto Bridge ซึ่งเป็นย่านที่เรือต่างๆเข้าเทียบเพื่อซื้อและขนถ่ายสินค้า แต่เสียหายหนักจากไฟไหม้ในศตวรรษที่ 10 มีการใช้พื้นที่อื่นๆแทนจนในปี ค.ศ.1340 จึงสร้างในที่ปัจจุปันที่อยู่ติดกับโบสถ์ St. Mark’s Basilica เป็นสไตล์ Gothic แต่เกิดไฟไหม้อีก 3 ครั้ง จึงต้องมีการสร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1577 เป็นสไตล์ Neo Classic ส่วนด้านข้างสร้างเชื่อมกับ Bridge of Sighs ใน ค.ศ. 1600 ด้วย
ภายในพระราชวังหรือศาลาว่าการนี้ประดับด้วยทองคำ เครื่องประดับล้ำค่าและภาพจิตรกรรมโดยจิตรกรระดับโลกมากมาย มีสวยงามโอ่อ่าสมที่เคยเป็นเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในโลก โดยเฉพาะห้องโถงที่มีภาพวาดผนังที่อลังการมากบนเพดาน แนะนำว่าถ้าไม่มีเวลาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในเวนิซต้องไม่พลาดที่จะมาที่นี่เพื่อชมเพียงห้องโถงใหญ่ห้องเดียว ถือเป็นห้องที่หรูหรามีความเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งกว่าพระราชวังใหญ่ๆที่เคยเยี่ยมชมมาอีก ส่วนตัวชอบพระราชวังนี้มาก แม้จะไม่ได้ใหญ่โตเหมือนราชวงศ์ในรูปแบบที่เราคิด แต่ทุกมุมมีรายละเอียดและความแพงแทรกอยู่ คิดดูว่าเงินเหลือๆถึงขนาดใช้ภาพวาดของมาสเตอร์มิเพียงบนผนังยังลามไปเต็มบนเพดาน
ถ้ามีเวลา อยากให้เจียดเวลาสัก 2ชั่วโมงในนี้ จะได้ค่อยๆชมภาพวาดต่างๆที่วาดโดยระดับมาสเตอร์ของโลกทั้งนั้น
Bridge of Sighs
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสะพานนี้ว่าในสมัยโบราณนักโทษจะเห็นสะพานนี้เป็นภาพสุดท้ายก่อนถูกนำไปขังลืมในคุกใต้ดินของ Doge's Palace แต่ในความเป็นจริง ตั้งแต่สร้าง Bridge of Sighs มา ที่ตรงนี้ไม่มีการขังนักโทษอีก แต่เรื่องเล่านี้กลายเป็นที่นิยมและมีนักท่องเที่ยวมากมายมาถ่ายรูป ทั้งยังมีเพลงดังมากมายที่เขียนเกี่ยวกับสะพานนี้ แสดงให้เห็นว่าสถานที่ต่างๆจะสวยอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีเรื่องเล่าประกอบด้วย ถึงจะเป็นที่จดจำ
(ชมภาพยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night)
The Lion of Venice และ St Theodore
เสาแกรนิตสองต้นที่ตั้งตระหง่าน โชว์อาณาเขตของเวนิซอยู่ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 12 โดยรูปปั้นบนเสาทั้งคู่จะหันหน้าออกไปจากเมือง เขตนอกจากเสาคู่นี้เป็นเขต Grand Canal และด้านในเป็นตัวเมือง เสาทั้งสองนี้ก็ยังใช้เป็นที่ประหารชีวิตนักโทษในยุคกลางอีกด้วย โดย St Theodore เป็นนักบุญคนแรกของเวนิซ ส่วน The Lion of Venice สิงโตมีปีกแห่งเวนิซเป็นสัตว์พิเศษที่เป็นตัวแทนของนักบุญผู้อุปถัมภ์ Saint Mark the Evangelist (หนึ่งในนักบุญผู้เผยแพร่ศาสนาและเป็นผู้สร้าง Church of Alexandria ที่อียิปต์) และเป็นสัญลักษณ์ของเวนิซ รอบเสานี้ปัจจุปันเป็นร้านคาเฟ่เต็มไปหมด
The Campanile/ Campanile di San Marco
หอคอยนี้เดิมถูกสร้างเพื่อเป็นประภาคารและป้อมเฝ้าระวัง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 และบูรณะในศตวรรษที่ 12 14 และ 16 มีความสูงถึง 99 เมตร และเป็นต้นแบบในการสร้างประภาคารเช่นนี้ในเขตรอบๆเวนิส ปัจจุปันสามารถขึ้นไปชมเมืองจากมุมสูงได้ โดยการขึ้นลิฟท์ ปัจจุปันชั้นบนสุดเป็นหอระฆัง ซึ่งจะมีการสั่นระฆังทุกวันอีกด้วย
(ชมภาพยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night)
Santa Maria Della Salute
ภาพเวนิซที่เราเห็นกันตามโปสการ์ดมักจะมีโบสถ์แห่งนี้ที่ตั้งอยู่บริเวณ Grand Canal และ Giudecca Canal ก่อนที่จะออกสู่ทะเล หลายคนถ่ายรูปตึกนี้โดยไม่รู้ประวัติ อันที่จริงโบสถ์นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของเวนิซทีเดียว โบสถ์สไตล์ Baroque บาโรกค์นี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้พระแม่มาเรีย เป็นโบสถ์โรมันแคทอลิกที่สร้างขึ้นหลังจากโรคระบาดฝีดาษครั้งใหญ่ Great Plague of Milan ที่คร่าชีวิตประชากรไปกว่า 1ล้านคนหรือราว 1 ส่วน 4 ทีเดียวในช่วง 1630-31 ซึ่งในนั้นประชากรเวนิซเสียชีวิตไปถึง 1ใน3 หรือราว 1แสนคนเลยทีเดียว ทำให้ความรุ่งเรืองของเวนิซสะดุดครั้งใหญ่ โบสถ์นี้ใช้เวลาก่อสร้างและประกวดแบบนานเกือบ 50ปี และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1680 ปัจจุปันงานศิลปะในโบสถ์นี้จะเป็นงานที่เกี่ยวกับโรคระบาดในช่วงนั้น
(ชมภาพยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night)
Rialto Bridge/Ponte di Rialto
Rialto Bridge สะพานรีอัลโต เป็นหนึ่งในสะพานข้าม Grand Canal ที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะมาถ่ายรูปมากที่สุด และอีก 2 สะพานที่มีชื่อเสียง คือ Accademia Bridge ที่เป็นไม้ และ Scalzi Bridge โดยสะพาน Rialto Bridge นี้มีความเก่าแก่ที่สุดและสร้างขึ้นครั้งแรกด้วยไม้ในปี ค.ศ.1181 ต่อมาได้มีการรื้อ และสร้างใหม่ด้วยหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน บริเวณตีนสะพานทั้งสองฝั่งยังเต็มไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านค้าขายของต่างๆ และเป็นป้ายเรือเมล์ที่ใหญ่ที่สุดใน Grand Canal ที่น่าสนใจคือในบริเวณ Grand Canal ช่วงใกล้กับ Rialto Bridge ถ้าสังเกตุดีๆจะมีตึกสไตล์ Fondaco ซึ่งสร้างในช่วงศตวรรษที่ 12 ค่อนข้างเยอะ ซึ่งตึกเหล่านี้เดิมเอาไว้ให้พ่อค้าต่างถิ่นที่เข้ามาทำการค้าขายในเวนิซพัก ด้านล่างจะค่อนข้างสูงเพื่อเป็นที่เก็บสินค้าและร้านค้า ด้านบนเป็นที่พัก อารมณ์เหมือนตึกแถวในบ้านเรา ทั้งนี้เพื่อไว้ควบคุมการเคลื่อนไหวของชาวต่างถิ่นจึงให้อาศัยอยู่ในแถว Grand Canal ฉะนั้นตึกสำคัญต่างๆเดิมจึงตั้งอยู่บริเวณนี้ และย้ายออกไปตรงจตุรัส St. Mark's Square ภายหลัง เพราะความแออัด
(ชมภาพยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night)
Academia Bridge หนึ่งในสะพานไม้โบราณที่คงความสมบูรณ์แบบ ตรงปลายสะพานนี้คือ Accademia Gallery of Venice (อ่านเพิ่มด้านล่าง) ส่วนตัวชอบถนนแถวหลังแกลอรี่นี้ ตรงนี้เดิมเป็นแหล่งที่นักเขียน จิตรกรและศิลปินมารวมตัวกัน ถนนแถวนี้จะกว้างหน่อยและมีตึกสวยล้อมรอบ ให้บรรยกาศน่าอยู่กว่าส่วนอื่นๆในเวนิซ
Rialto market
สำหรับคนที่ชื่นชอบตลาด พลาดไม่ได้ที่จะแวะไปตลาดตรง Rialto Bridge ซึ่งเปิดทุกวันช่วงเช้า 7.30 ถึง 13.30 แต่ไปเช้าจะดีกว่าเพราะแผงปลาจะเก็บก่อนถ้าขายหมด คนท้องถิ่นและเจ้าของร้านอาหารต่างๆจะแวะมาดูปลาที่จับได้ในวันนั้น ซึ่งจะเห็นสัตว์ทะเลในพื้นที่น่าสนใจ ยิ่งถ้าอยากเห็นคนท้องที่ต้องมาเสาร์เช้าซึ่งคนจะเยอะเป็นพิเศษ ตลาด Rialto Market แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นกลางแจ้งแต่มีกางเต้นกันแดด และส่วนที่อยู่ในอาคารเรียกว่า Pescheria ซึ่งแปลว่าตลาดปลา อาคารที่ล้อมรอบตลาดนี้มีอายุ 300-400ปีทั้งนั้น และรวมถึงตลาดนี้ด้วยที่มีอายุหลายร้อยปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1097
Murano
จาก St Mark’s Square จัตุรัสเซนต์มาร์ค สามารถนั่ง vaporetto เรือเมล์ ไปยังเกาะมูราโน่ได้ เกาะมูราโน่มีลักษณะคล้ายตัวเมืองเวนิซ แต่จะเงียบและเล็กกว่า ซึ่งดูน่าอยู่กว่ามาก เพียงแต่ไม่มีโบสถ์ใหญ่และสิ่งก่อสร้างอลังการ มูราโน่โด่งดังไปทั่วโลกจากงานเครื่องแก้วโดยเฉพาะโคมไฟระย้า ในพระราชวังและโรงแรมหรูหราทั่วโลกจะต้องมีโคมไฟจากมูราโน่ทั้งนั้น แก้วที่นี้ทำจากการเป่าแก้ว ทำออกมาเป็น Goldstone Glass ซึ่งเป็นลูกปัดแก้ว มีโรงงานให้เยี่ยมชม และสามารถเรียนทำแก้วได้ด้วย แต่ควรเจียดเวลาสัก 3-4ชั่วโมง
สำหรับคนรักพิพิธภัณฑ์ Museum of Glass พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วนี้พลาดไม่ได้ มีงานสวยงามและลูกปัดแก้วโบราณให้ชม ที่ต้องบอกอีกเรื่องคือ พิพิธภัณฑ์ที่นี่ไม่ใหญ่เหมือนที่เราเคยเห็น แต่จะเป็นพื้นที่ไม่มากและมีงานแสดงที่ชัดเจน ซึ่งในเวนิซมีพิพิธภัณฑ์และแกลอรี่เยอะมาก เพราะหลังจากศตวรรษที่ 17 ที่เวนิซศูนย์เสียความเป็นเส้นทางการค้าไปเนื่องจากการเปลี่ยนการขนส่งเป็นมหาสมุทรแทน เสนิซก็มาเอาดีด้านการทำสินค้าหรูหราและแบรนด์แทน ปัจจุปันเวนิซยังเป็นแหล่งที่่มหาเศรษฐีต่างแวะมาตากอากาศเวลาเล่นเรือเสมอ
Burano
จากเกาะมูราโน่ไปต่อกันที่ Burano เกาะบูราโน่ ใช้เวลาอีก40 นาทีโดยเรือเมล์ หรือถ้าเป็นเรือท่องเที่ยวจะเพียง 30นาที เกาะบูราโน่จะมีนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ เพราะสีสันฉูดฉาดเหมือนลูกกวาดของอาคารที่ทำให้เกาะนี้เป็นเอกลักษณ์ บ้านที่นี่จะทาสีใหม่ทุก 2 ปี โดยเจ้าของบ้านไม่มีสิทธิ์เลือกสี รัฐบาลเป็นผู้กำหนดสีที่จะถูกทา ได้ยินมาว่าสีของอาคารเดิมเคยผูกกับสีประจำตระกูลต่างๆ เครือญาติเดียวกันจะทาสีเดียวกัน ปัจจุปันบนเกาะบูราโน่นี้มีประชากร 2,800คน ถ้าจะหลีกเลี่ยงฝูงชนแนะนำให้มาแต่เช้า หรือค้างคืนบนเกาะนี้ซึ่งมีโรงแรมและร้านอาหารมากมาย
บนเกาะบูราโน่นี้มีสองส่วนนอกจากส่วนที่เป็นคูคลองสีลูกกวาดแล้ว ส่วนที่เป็นเมืองเก่ายังมีโบสถ์ ร้านค้าและบ้านคน หากได้ค้างคืนที่นี้ก็จะได้ใช้เวลาเยอะๆในการเดินเล่นรอบเกาะและชิลในร้านอาหาร
Torcello
ไหนๆไปถึงเกาะบูราโน่แล้ว นั่งเรือเฟอร์รี่ต่อไปอีก 5นาทีก็ถึงเกาะโทเซลโล่ ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่เหนือสุดของเวนิซ มีประวัติย้อนไปถึงยุคโรมัน เดิมในช่วงปลายของจักรวรรดิ์โรมัน เกาะนี้เคยเป็นเส้นทางการค้าเกลือที่สำคัญ และมีความสำคัญมากกว่าเวนิซด้วยซ้ำ เคยมีคนอาศัยถึง 3,000คน ปัจจุปันมีคนอาศัยอยู่เพียง 10คนเท่านั้น จนถึงยุคกลาง ความสำคัญเริ่มถดถ้อยเนื่องจากเกิดโรคระบาดต่อเนื่องบนเกาะ และทะเลสาบล้อมรอบตื้นจนเรือเข้าถึงยาก
จากท่าเรือถ้าเดินตามคลองซึ่งมีแต่พงหญ้าสูงทั้งสองด้านเข้าไปจนสุดประมาณ 10นาทีจะเจอ วังเก่า Palazzo del Consiglio สร้างในศควรรษที่ 5 เป็นที่ว่าการของรัฐบาลในยุคนั้น และมีพิพิธภัณฑ์ Torcello Museum ซึ่งจะพบวัตถุโบราณจากยุค Byzantine และ Medieval ก่อนที่เกาะนี้จะถูกทิ้งไป ระหว่างทางเดินไปจะมีร้านอาหารสไตล์สวนอาหารขนาดใหญ่อยู่ นักท่องเที่ยวหลายคนเลือกนั่งทานปลาย่างแกล้มเบียร์เย็นๆในวันร้อนๆ มากกว่าการเข้าไปชมซากโรมัน จึงเห็นว่าด้านหน้าของเกาะมีคนเต็มไปหมด
Museums
จากที่เกริ่นไว้ข้างต้นเรื่องความมั่งคั่งของเวนิซ และการเบนเข็มมาจับตลาด Luxury ของเวนิซหลังศตวรรษที่ 17 เป็นเหตุทำให้เวนิซมีพิพิธภัณฑ์และสถานที่แสดงผลงานมากมาย ในเมื่อมีโอกาสได้มาเวนิซก็ไม่น่าพลาดที่จะเข้าขมพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ ที่มีงานระดับมาสเตอร์เก็บไว้มากมาย และเป็นกิจกรรมเหมาะกับช่วงสายๆในวันร้อนๆอีกด้วย ซึ่งพิพิธภัณฑ์เหล่านี้จะอยู่ในแถบใกล้ๆกัน และระหว่างทางมีร้านอาหารเล็กๆเลิศรสไว้ให้เป็นจุดพักระหว่างเดินจากพิพิธภัณฑ์หนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งด้วย
Ca’ Pesaro Museum
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแนวโมเดิรน์อาร์ตนี้ ตั้งอยู่ข้าง Grand Canal สำหรับคอพิพิธภัณฑ์ไม่ควรพลาด ตัวตึกเป็นอาคารแนวบาร็อคที่สง่างามมากออกแบบโดยนักออกแบบชาวเวนิซ Baldassarre Longhena ในสไตล์ ภายในจัดแสดงงานจากมาสเตอร์ เช่น Klimt และ Miró ส่วนที่ชั้น 3 จัดแสดงงานวัตถุโบราณของญี่ปุ่น เช่นดาบซามุไร เสื้อเกราะและภาพพิมพ์หายากจำนวนมาก ถือว่าน่าทึ่งทีเดียว
Accademia Gallery of Venice
สร้างใน ค.ศ. 1750 The Accademia Gallery of Venice เป็นสถานที่แรกๆเลยที่ทางการเวนิซสร้างเพื่อให้คนทั่วไปได้สัมผัสงานศิลปะและงานปั้น ตั้งอยู่ใกล้กับสะพาน Accademia Bridge ที่มีโตรงสร้างเป็นไม้สวยงาม ในช่วงศตวรรษที่ 18 ระแวกนี้มีศิลปินอาศัยอยู่จนมากเป็นแหล่งที่ศิลปินจากทั่วสารทิศมาร่วมกัน งานที่แสดงในนี้ ปัจจุปันเป็นพวก Byzantine และ Gothic ซึ่งเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนาเยอะจากศิลปินดังที่มัอิทธิพลต่อโลกศิลปะตะวันตก เช่น Bellini, Carpaccio, Giorgione, Veronese และ Tintoretto และภาพดัง Vitruvian Man ของ Leonardo da Vinci ดาวินชี ก็อยู่ที่นี่ ใช่ว่าที่ Accademia Gallery จะแสดงงานโบราณเท่านั้น ส่วนด้านล่างแสดงงานร่วมสมัยน่าสนใจเช่นกัน ในช่วงที่ไปพอดีเขาจัดแสดง upside down เป็นการเอาภาพวาดมาวางสลับหัวลงให้ได้มุมมองใหม่ๆ น่าสนใจทีเดียว
Gondola ร่องเรือกอนโดล่า
ก่อนจะจากเวนิซไปจะต้องได้ลองนั่งเรือกอนโดล่า ซึ่งเป็นเรือที่มีคนแจว เดิมมีแต่ในเวนิซเท่านั้น แต่ปัจจุปันมีกันในหลายประเทศ ในสมัยก่อนนั้นเรือกอนโดล่าเป็นยานพาหนะทางน้ำที่ใช้กันอย่างทั่วไปภายใน Grand Canal ซึ่งเป็นคูคลองหลักของเวนิซ แต่ปัจจุบันเหลือเรือที่ยังให้บริการอยู่ประมาณ 400 ลำสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เพราะมีทั้งเรือเมล์ Vaporetto และ เรือยนต์แท็กซี่ Water Taxi ให้บริการแทน (ชมภาพยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night)
การจะเป็นคนแจวเรือกอนโดล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กอนโดเลีย (Gondolier) จะต้องเป็นคนท้องถิ่น พูดภาษาเวนิซได้ ผ่านการทดสอบความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเวนิซและสถานที่สำคัญต่างๆภายในตัวเมือง รวมไปถึงทักษะภาษาอังกฤษหรืออื่นๆที่ใช้ในยุโรป มีทักษะบังคับเรือ กู้ชีพและสุขภาพแข็งแรงเพื่อให้แน่ใจว่าจะพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมรอบเมืองได้อย่างปลอดภัย
ช่วงเวลาเย็นจะเป็นช่วงที่คิวยาวที่สุด (อ่านเรื่องเวนิซยามค่ำใน https://www.gooutseeworld.com/post/venice-by-night) แม้จะมีท่าขึ้นหลายที่ แต่จุดตรงจัตุรัสเซนต์มาร์คจะยอดนิยมที่สุด ค่าเรือแพงใช้ได้เลย อยู่ราว 60-80ยูโร/40นาที นั่งได้สูงสุด 6คน แล้วแต่ช่วงเวลา สามารถจอง online ได้ด้วย
เส้นทางจะวิ่งรอบคลองเล็กที่รอดออกจาก Grand Canal จากตรง St Mark’s Square จัตุรัสเซนต์มาร์คไป Rialto Bridge สะพานริลอาโต้ ระหว่างทางกอนโดเลียก็จะอธิบายประวัติอาคารสำคัญต่างๆ แม้ราคาจะสูงแต่จะได้เห็นเวนิซในมุมมองที่ไม่เหมือนกัน และประหยัดเวลาเดินด้วย
Venice Carnival เทศกาลหน้ากากเวนิซ
แม้จะไม่ได้มาเยี่ยมเวนิซในช่วงงาน Venice Carnival งานเทศกาลที่โด่งดังและมีเอกลักษณืที่สุดในโลกนี้ เกิดจากการเฉลิมฉลองชัยชนะของเวนิซซึ่งในยุคนั้นเป็นรํฐอิสระปกครองตนเองในการสู้รบกับกองทัพของ Patriarch of Aquileia ในปี ค.ศ. 1162 ซึ่งต่อมาในศตวรรษที่ 13 เปลี่ยนมาเป็นการจัดช่วงวันที่ 26 ธันวาคม และจบ 40วันก่อนวันอิสเตอร์ซึ่งเป็นวันอังคาร ไม่มีสาเหตุที่แท้จริงที่บอกว่าทำไม่ถึงต้องสวมหน้ากากแต่น่าจะมาจากการที่ต้องการให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้ลดหน้าตาทางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ในงานทุกคนจะสามารถสวมใส่ชุดที่อยากจะใส่ และพูดคุย เต้นรำ กับคนแปลกหน้าโดยไม่ต้องสนใจสถานะทางสังคม ซึ่งเป็นความคิดที่ดีที่อยากก่อให้เกิดความเท่าเทียมสามัคคี
หน้ากากในยุคแรกๆค่อนข้างจะเรียบง่าย แต่จากงานรื่นเริง 10 วัน ชนชั้นสูงบางคนเริ่มชื่นชอบการปกปิดตนเอง เพราะเวนิซในยุคนั้นเต็มไปคนร่ำรวยจากสาขาต่างๆ การใส่หน้ากากมาสู่ยุคหนึ่งกลายเป็นเรื่องปกติ และมีช่างทำหน้ากากมีอิทธิพลมาก จนรัฐออกคำสั่งให้มีกำหนดการใส่หน้ากากได้ฌฉพาะช่วงงานเทศกาล งานเทศกาลหน้ากากได้รับความนิยมมากทำให้คนหลั่งไหลเข้าไปเวนิซในช่วงงาน สิ่งที่ทำไม่ได้ในช่วงเวลาปกติก็ทำได้ในช่วงงานเทศกาลเพราะถือว่าเป็นงานรื่นเริง เช่นการดื่มเหล้าเต้นรำข้ามวันข้ามคืน การเล่นพนันกันอย่างโจ่งแจ้ง จนถึงการลอบสังหารนักธุรกิจและนักการเมือง จนถึงปี ค.ศ. 1797 งานเทศกาลนี้ถูกระงับโดยสิ้นเชิงในยุคของจักรพรรดิแห่งออสเตรีย Francis II ฟรานซิสที่ 2 และกลับมานิยมใหม่แต่เป็นงานส่วนบุคคลในวงเล็กในศตวรรษที่ 19 ปัจจุปันมีการนำงานเทศกาลนี้มาปัดฝุ่นจัดใหม่แต่เป็นงานแนวส่งเสริมการท่องเที่ยวมากกว่า มีการจัดประกวดหน้ากากประจำปีมาตั้งแต่ปี 2007 หน้ากากแบบบเวนิซแบ่งออกเป็นหลายประเภท ที่เด่นๆได้แก่ Bauta, Moretta และ Columbina
Bauta
เป็นหน้ากากแนวเวนิซแท้ โดยบนหน้ากากจะไม่ปากและคางที่ชัดเจน คำว่า Bauta มาจากภาษาเยอรมัน “behüten“ แปลว่าป้องกัน จะเป็นหน้ากากสีขาวและใส่กับหมวกสีดำที่มีปลายแหลม tricorno
Moretta
เป็นหน้ากากจากฝรั่งเศส ซึ่งสาวๆเวนิซชื่นชอบ เดิมออกแบบให้มีด้ามตรงด้านในหน้ากากบริเวณปาก เพื่อเอาไว้ให้กัด ไม่ให้หน้ากากหลุดจากใบหน้า ตัวกัดนี้ออกแบบมาให้ใช้ในโบสถ์เพื่อที่จะได้ไม่เปิดปากพูด ปัจจุปันหน้ากากแบบนี้มีสายรัดจากด้านข้างหูแทน ซึ่งเป็นหน้ากากแบบที่มีการใช้แพร่หลายมากที่สุดในปัจจุปัน
Columbina
หน้ากากแบบนี้เดิมสวมใส่กันในบรรดานักแสดงหญิง เพราะพวกเธอต้องการโชว์ความงามบนใบหน้า จึงเปิดหน้าไว้ปิดแต่บริเวณตา หน้ากากแบบนี้ถูกตกแต่งเพิ่มด้วยของประดับต่างๆ บนนก ทองคำ แก้วคริสตัล และเงิน
Medico della Peste/Plague Doctor
หน้ากากทรงประหลาดเหมือนนกนี้มาจากหน้ากากที่แพทย์ใส่กันในช่วงโรคระบาดกาฬโรค และโรคที่ติดต่อกันทางอากาศ ในช่วงศตวรรษที่ 17 ภายหลังนิยมนำมาใส่เพื่อแสดงถึงปรัชญาการมีชีวิตอยู่และการระลึกถึงความตาย