เดินทางช่วง ปลายมกราคม 2019 ระยะเวลา 5 วัน
พม่าเป็นประเทศที่หลงรักตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปเยือนเมื่อเพียง7-8ปีก่อน ตอนนั้นที่ย่างกุ้งยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือสำหรับต่างชาติ คนพม่าจะมีมือถือก็ต้องจ่ายค่าเปิดสัญญานหลายหมื่น เวลาเข้าไปพม่านั่งเครื่องเพียงชั่วโมงนิดๆ เหมือนหลุดเข้าไปอยู่คนละโลก รู้สึกถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ถนนยังคงมีแต่รถเก่าสมัยสงครามโลก ไม่มีแอร์ในรถ จากครั้งนั้นที่ไปทัวร์ย่างกุ้ง-อินแขวนแบบฉิงฉับ ก็เริ่มไปพุกามแบบกรุ๊ปส่วนตัว และตามด้วยอินเล มิงกุน มัณฑะเล ในกลุ่มที่ยิ่งเล็กลงในปีต่อๆมา และรอบนี้ก็เป็นรอบที่ 5 แล้วที่ไปพม่า แม้ปัจจุปันรถโตโยต้าใหม่ๆวิ่งวุ่น รถเริ่มติดเหมือนเราในย่างกุ้ง ทุกคนเดินคุยโทรศัพท์กันทั้งเมืองใหญ่เมืองเล็ก แต่เสน่ห์ของพม่าก็ไม่ได้ลดลง
Mrauk U มรัคอูหรือเมียวอู ตั้งอยู่ในรัฐยะไข่ Rakhine ทางทิศตะวันตก ชายแดนสุดฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล ของประเทศพม่า มีชายแดนติดบังกลาเทศ มีพรมแดนธรรมชาติคือเทือกเขาอรกันโยมา (Arkhine Yoma) ที่ยาวตลอดแนวพรมแดนติดทะเลเป็นระยะทางยาวเกือบ 600 กิโลเมตร ทำให้การติดต่อสมาคมกับแผ่นดินส่วนใหญ่ของพม่าเป็นไปได้ยาก จะเดินทางเข้าไปต้องผ่าน เมืองซิตเว หรือ ซิตตุ่ย Sittwe ซึ่งเป็นเมืองหลักก่อน แล้วนั่งรถหรือเรือเข้าไป ฉะนั้นการเดินทางไปจากเมืองไทยจึงต้องบินลงที่ย่างกุ้งแล้วต่อเครื่องภายในประเทศพม่าไปลงซิตตุ่ย
รัฐยะไข่เป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณ อายุกว่า 2,000 ปี เกิดขึ้นก่อนอาณาจักรพุกาม อันเป็นอาณาจักรแรกของพม่า เป็นพันปี อาณาจักรโบราณที่ว่านี้แบ่งได้ 4 ยุค ยุคแรกอาณาจักรธัญญาวดี Dhanyawaddy ราวพุทธตวรรษ ที่ 1-8 ยุคนี้ ที่พระเจ้าจันทะสุริยะ ทรงสร้างพระมหามุณี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า คำว่า มหามุนี แปลว่า "ผู้รู้อันประเสริฐ" (The Great Sage) เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ (นักท่องเที่ยวที่ไปมัณฑะเลย์ทุกคนต้องเข้าชมพิธีล้างหน้าทุกเช้าตั้งแต่เวลา ตี 4.30) องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์หนัก 6.5 ตัน ยุคที่ 2 อาณาจักรเวสาลี Vesali ราว พุทธตวรรษ ที่ 8 -13 ยุคที่ 3 อาณาจักรเลโมล์ Lemro ราว พุทธตวรรษ ที่ 13 -18 อาณาจักรพุกามเพิ่งเกิดในสมัยนี้ และยุคสุดท้าย อาณาจักรเมียวอู/มรัคอู Mrauk U ราวพุทธตวรรษ ที่ 18 -23 ร่วมสมัยกับ อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา
ทิวทัศน์ระหว่างทางจากย่างกุ้งไปซิตตุ่ย จะบินเรียบอ่าวเบงกอล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีแม่น้ำสายเล็กๆ แตกแขนงจากแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลคดไปมาจำนวนมาก มองลงไปจากเครื่องบินเล็กที่บินไม่สูงมากดูสวยแปลกตา เมืองซิตตุ่ยเป็นเมืองหลวงรัฐยะไข่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติอารากันที่นับถือศาสนาพุทธ ที่ซิตตุ่ยนี้เราจะเห็นเกาะที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ เหมือนพม่าเอาเขาไปปล่อยเกาะไว้ จะเข้าออกต้องขอ ที่จริงชาวโรฮิงญานี้มาตั้งรกรากอยู่หลายชั่วอายุคนแล้ว แต่รัฐบาลพม่าและชาวอารากันก็ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนชาติหนึ่งในรัฐอารากัน ดังนั้นชาวโรฮิงญาจึงไม่มีสิทธิความเป็นพลเมืองที่นี่ ในรัฐยะไข่มีความไม่สงบอันเกิดจากการขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงญาและอารากัน และระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองทัพอารากันซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองสำหรับชาวยะไข่ ทำให้รัฐยะไข่เป็นเขตหวงห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเป็นช่วงๆ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในมรัคอูจึงมีเพียง 50,000 คน/ปีเท่านั้น
เห็นชิตตุ่ยเป็นเมืองโนเนมในวันนี้ ย้อนกลับไปที่ปี ค.ศ.1827 ชิตตุ่ยเคยเป็นหนึ่งในสามเมืองท่าสำคัญสมัยอาณานิคมอังกฤษ และก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 เคยเลื่องลือว่าเป็นเมืองชายทะเลที่สวยที่สุดของอ่าวเบงกอล เต็มไปด้วยชนชั้นสูงและพ่อค้าชาวอังกฤษ ชาวดัชท์ ชาวโปรตุเกต และชาวฝรั่งเศส แต่ปัจจุปันพื้นที่ในรัฐยะไข่แม้จะอุดมด้วยน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ แต่รัฐยะไข่ยังคงเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของพม่า ซึ่งมีเพียง 17% ของครัวเรือนทั้งหมดในรัฐที่เข้าถึงน้ำดื่มปลอดภัยตลอดปี และกว่า 300,000 ครัวเรือนไม่มีแม้แต่ห้องน้ำใช้
เมื่อมีประวัติน่าพิศสมัยเช่นนี้ เราจึงต้องสำรวจซิตตุ่ยเสียหน่อย สถานที่แรกที่ไปคือพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมแห่งรัฐรัคขิ่น จัดแสดงเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของชาวยะไข่ พิพิธภัณฑ์นี้ดูเรียบง่ายมาก ตัวตึกเองด็ดูโบราณเก่าเก็บมีคราบน้ำและราขึ้นเป็นช่วงๆ ในช่วงเย็น เราไปเดินเลียบชายทะเลตามถนน ‘เดอะ สแตรนด์’ The Strand มาสุดทางที่ ‘เดอะ พ้อยท์’ The Point ซึ่งเป็นจุดปลายสุดของแผ่นดิน เพื่อชมพระอาทิตย์อัสดงลงทะเลบนอ่าวเบงกอล
เช้าตรู่วันถัดมา เราได้ไปเดินเล่นตลาเช้าของชิตตุ่ย เป็นตลาดที่เต็มไปด้วยสีสรร และมีโซนขายปลาใหญ่มากแบ่งเป็นปลาสด และปลาตากแห้งชนิดต่างๆมากมาย หลายชนิดไม่เคยเห็น เพราะชิตตุ่ยเป็นเมืองที่มีการทำประมง และต่อจากทริปนี้ 3เดิอนมีโอกาสได้เห็นปลาแห้งเหล่านี้ขายในตลาดที่กาฐมาณฑุ เนปาล สำหรัยคนที่ชอบเดินเที่ยวตลาดเพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนท้องถิ่นแล้ว ที่นี่เป็นตลาดที่มีกิจกรรมมากทีเดียว
จากชิตตุ่ยไปมรัคอูใช้เวลานั่งรถ 4 ชั่วโมง ระหว่างทางมีรถน้อยมาก เมืองดูเงียบเหงาเหมือนหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญมากๆ และตกใจเมื่อรู้ว่ามรัคอูเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของราชอาณาจักรอารากันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1431 เป็นเวลา 355ปี ซึ่งเรืองอำนาจมาก มีเขตปกครองไกลถึงประเทศบังลาเทศครึ่งประเทศ ส่วนตะวันตกและส่วนใต้ของพม่าทั้งหมด ในยุคนั้นมรัคอูมีชื่อเสียงเลืองลือไปถึงยุโรปว่าเป็นเมืองทองคำ Golden City จากคำบอกเล่าของบาทหลวง Friar Sebastian Manrique ซึ่งได้ไปเยือนช่วง ค.ศ. 1635 งานพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ Thiri Thudhamma และนักเขียนชาวอังกฤษ Maurice Collis นำไปเขียนเป็นหนังสือ The Land of the Great Image ทำให้ชาวยุโรปอยากเดินทางมายลโฉมเมืองมรัคอู ปัจจุปันแม้ราชวงศ์ล่มสลาย ความรุ่งเรืองในอดีตยังมีให้เห็นเป็นเจดีย์สวยงามมากมายในเมืองมรัคอู วัดสำคัญได้แก่
วัดซิตตวง Shittaung เป็นเจดีย์สถานที่สำคัญและตั้งอยู่สูงที่สุดและสามารถมองเห็นได้ไกลถึง 20 ไมล์จากแม่น้ำ Kaladan มีความสูง 250 ฟุตและอยู่ห่างจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระราชวังประมาณครึ่งไมล์ พระราชวังเก่ามรัคอูนี้โหรหลวงของกษัตริย์ Narameikhla ซึ่งเป็นปฐมกษัติย์ของราชวงส์มรัคอูและกษัติย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์หลวงเกร็ท Luanggret แนะนำให้ย้ายมาตรงจุดนี้และตั้งราชธานีใหม่ มาจากพระราชวังเดิมที่หลวงเกร็ท Luanggret ในปี ค.ศ. 1430
ส่วนวัดซิตตวงแห่งนี้ถูกก่อสร้างโดยกษัติมินบิน ซึ่งเป็นผู้ที่พาราชวงศ์มรัคอูเข้าสู่ยุครุ่งเรือง โดยการร่วมมือกับชาวโปรตุเกสใช้อาวุธดินปืนและปืนใหญ่จนขยายอาณาเขตเข้าไปในอ่าวเบงกอล จับเชลยศึกมามากมายเกณท์เป็นแรงงานสร้างเมืองมรัคอูและเมืองท่า ในยุคเฟืองฟูของราชวงศ์มรุคอูมีเชลยศึกที่เป็นชนชั้นสูงของ Chittagong (ราชธานีฝั่งอินเดียที่ราชวงศ์มรัคอูเข้ายืด) ถวายตัวเป็นข้ารับใช้ในวังมากมาย ส่วนใหญ่มีหน้าที่ด้านวัฒนธรรมเช่นเล่นดนตรี บันทึกอักษร ร่ายบทกวีและร่ายรำ ที่วัดแห่งนี้กษัติมินบินได้หล่อพระพทุธรูป 80,000องค์ประดิษฐานไว้ สิ่งสำคัญของวัดนี้อีกอย่างคือกำแพง 3 ชั้นที่ล้อมกันเหมือนเขาวงกต ภายในกำแพงเหล่านี้มีภาพแกะสลักพระพทุธรูป เทพ สัตว์ศักดิ์สิทธิ เล่าเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆเกี่ยวกับอารากันไว้ และที่เนินเขาที่ตั้งวัดซิตดวงแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งฐานปืนใหญ่ ในสมัยทำสงครามกับจักรวรรดิอังกฤษด้วย ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยซากปืนใหญ่ปรากฏอยู่ และจากที่นี่เป็นจุดชมวิวที่เห็นภูมิทัศน์แบบพาโนราม่า
วัดโคตวง พญา (Kothaung Paya) สร้างในปี ค.ศ.1553 โดยกษัตริย์มินไตกา Min Dikkha พระองค์ต้องการสร้างวัดนี้ให้ยิ่งใหญ่กว่าพระบิดา กษัตริย์มินบิน Min Bin กษัตริย์มินไตกาเจริญรอยตามบิดา และขยายราชอาณาจักรให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ทรงตั้งชื่อวัดโคตวง หมายถึง ‘วิหาร 90,000 พระพุทธรูป’ วัดแห่งนี้ถูกสร้างโดยยึดหลักผังภูมิโหราศาสตร์เพื่อสยบสิ่งชั่วร้าย
เจดีย์ฮุตคานเทียน Htukhan Thein สร้างในปี ค.ศ.1571 โดยกษัตริย์ Mong Phaloung เป็นโอรสคนเล็กสุดของกษัตริย์มินบิน และได้สืบราชวงศ์ต่อจากพี่ชายและลูกพี่ลูกน้อง ในช่วง ค.ศ. 1572-1593 ภายใต้การปกครองของพระองค์อาณาจักรอารากันรุ่งเรืองถึงขีดสุด และพระองค์ยังเป็นกษัตริย์ที่ชอบกีฬาล่าสัตว์บนหลังช้าง โดยทรงมีช้างเผือกถึง 3 เชือกทีเดียว จากการศึกษาของนักมนุษยศาสตร์ชาวอังกฤษ Dr. Emil Forchhammer ในช่วงปกครองของอังกฤษพบว่า เจดีย์ฮุตคานเทียนมีโรงสร้างแบบที่นิยมสร้างในช่วงราชวงศ์มรัคอูคือป้อมเจดีย์ที่ใช้เป็นที่ตั้งกำลังทหารยามศึกสงครามได้ด้วย และที่พิเศษกว่าที่อื่นคือที่ เจดีย์ฮุตคานเทียนนี้มีทางเข้าเพียงทางเดียว เหมือนทำไว้เป็นที่หลบภัยของพระและคนในราชวงศ์ชั้นสูงมากกว่า ด้านในมีพระพุทธรูปน้อยใหญถึง 180 องค์
Lawka Man Aung เป็นหนึ่งในห้าเจดีย์ที่ชาวยะไข่ให้ความเคารพในมรัคอู (เจดีย์ที่ทั้งห้าได้แก่ Lawka Man Aung, Zeenat Man Aung, Sakkya Man Aung, Mingalar Man Aung และ Yadanar Man Aung) ภายในเจดีย์มีพระพุทธรูปสูง 12 ฟุตประดิษฐานอยู่ เจดีย์นี้สร้างโดย Candathudhammaraza (ปี 1652-1674)
เจดีย์ Mingalar Man Aung สร้างโดยลูกชายของกษัตริย์ Oakkalapa ในปี ค.ศ. 1685 เจดีย์สร้างด้วยหินแทนที่จะเป็นอิฐ เจดีย์นั้นมีผนังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผนังแต่ละด้านมีประตูทางเข้าที่มีเส้นทางนำไปสู่เจดีย์ซึ่งมีเจดีย์เล็ก ๆ ล้อมรอบ 8 แห่ง ภายในมีเจดีย์รูปปั้นหินขนาดเล็ก มีซากสถาปัตยกรรมจำนวนมากในยุคมรัคอู
มรัคอูเป็นเมืองที่มีมนต์เสน่ห์ โดยเฉพาะในช่วงเช้ามืด ทะเลหมอกบวกกับเนินเขายาว ๆ ล้อมเมือง สลับกับแสงที่เริ่มทอขึ้นบนเส้นขอบฟ้ายามเช้า ในช่วง 3วันที่เราอยู่ เราเก็บภาพแสงเช้าทุกวันโดยปีนขึ้นไปบนเนินเขารอบๆเมือง ทุกเช้าเมื่อแสงแรกส่องลงบนพื้นด้านหน้า ภาพของเจดีย์ที่ปรากฎกลางสายหมอกยามเช้า ทำให้ต้องมนต์ได้เสมอ ความเงียบสงบ แสงสีอ่อนหวานและสายหมอกที่ไหลไปตามสายลม ... อยากจะหยุดเวลานั้นไว้
สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อไปมรัคอูคือการไปเยี่ยมหมู่บ้านชิน Chin Village ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในลำน้ำ Lemro River โดยนั่งรถออกไปนอกเมืองมรัคอูราวๆ หนึ่งชั่วโมงจากนั้นเปลี่ยนเป็น นั่งเรือเล็กไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อไปเยี่ยมชาวชนเผ่าชินที่สักหน้าเป็นลายแมงมุม ชาวชิน ในพม่ามีอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป และจะมีพิธีการสักบนใบหน้าของหญิงสาวซึ่งแต่ละกลุ่มจะใช้สีที่ต่างกัน เช่น สีดำ สีกรมท่า แต่ละหมู่บ้านก็มีลายเฉพาะ การสักบนใบหน้าของหญิงชาวชินทำเพื่ออำพรางความงาม คนโบราณเล่าต่อกันมาว่า ในอดีตหญิงสาวชาวชินมีความสวยต้องตาต้องใจคนต่างถิ่นเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าเมืองกษัตริย์พม่าที่มักจะจับตัวสาวชาวชินไปเป็นนางสนมและทาสรับใช้ ผู้ใหญ่จึงสั่งให้หญิงสาวชินสักใบหน้าเพื่ออำพรางความงามตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 12-13 ปี ซึ่งต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญเป็นผู้สักให้ โดยจะสักต่อเนื่องถึง 2 วันกว่าจะเสร็จ แม่เฒ่าเล่าให้ฟังว่าหลังจากสักแล้วทุกวันยังต้องเอาหนามต้นไม้มาขุดเอาขี้เถ้าใต้กะทะอาหารมาทิ้มซ้ำต่ออีกเป็นปีเพื่อย้ำให้สีเข้ม มิใช่สาวๆทุกคนจะได้สัก คนที่สวยเท่านั้นจะได้รับเลือก สาวที่ไม่ได้สักหน้าก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย ปัจจุปันชาวชินที่อายุต่ำกว่า 70ปีไม่มีใครได้สักหน้า เพราะช่างสักผู้ที่มีความชำนาญไม่มีอยู่อีกแล้ว
การเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเหล่านี้ ได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่อยู่กันแบบไม่มีน้ำไฟ ยังคงหาบน้ำและอาบน้ำตามตลิ่ง เราเข้าไปเยี่ยม 5หมู่บ้าน เจอเด็กๆเล็กๆทุกหมู่บ้านวิ่งเล่นกัน ส่วนใหญ่เมื่อรู้ว่ามีนักท่องเที่ยวมาก็รีบมาดู มาขอขนม แม้ตัวเองจะไม่ชอบที่เห็นเด็กๆกลายเป็นคนช่างขอ แต่เมื่อมองดูสภาพแวดล้อมในแต่ละหมู่บ้านที่อยู่กันอย่างตามมีตามเกิด และแทบไม่ได้มีขายของชำอะไรแล้ว อดคิดเปรียบเทียบกับชีวิตที่สะดวกสบายของเราไม่ได้ และยิ่งอดไม่ได้ที่จะแจกจ่ายขนมต่างๆที่ทั้งเตรียมมาและติดตัวไว้กินเองให้เด็กๆได้ชิมกันบ้าง รอยยิ้มที่มีความสุขของเด็กๆที่ได้ขนมกินนั้นช่างเล่อค่า เราได้ไปเยี่ยมโรงเรียนในหมู่บ้านหนึ่งและเจอคุณครูซึ่งมีเพียง 1 คน แต่สอนครบทุกชั้นเรียน เด็กเล็กจนโต (ก็ห้องเรียนมันเป็นเรือนกว้างๆ จัดเป็น 3 โซน คร่าวๆ แบ่งแยกด้วยกระดานดำเท่านั้น ครูก็สอนวนไป) นึกถึงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านเข้าไปสร้างโรงเรียนและพัฒนาหมู่บ้านห่างไกลความเจริญต่างๆจนคนไทยมีที่ทำกิน กินดีอยู่ดี ปัจจุปันภาพแบบนี้ไม่น่าจะได้เห็นในประเทศไทยอีก
หลังจากกลับจากหมู่บ้านชิน เราก็ไปดูพระอาทิตย์ตกบนเนินเขาเตี้ยๆรอบเมืองมรัคอูเช่นเคย ช่วงพระอาทิตย์จะตกเป็นช่วงเลิกงาน ทุกครอบครัวเริ่มจุดเตาเผาถ่านทำอาหารเย็นกิน แม้จะเป็นหมู่บ้านในเมืองก็แทบไม่มีร้านอาหาร หรือแผงขายของกินตามทางเท่าไหร่ คนที่นี่อยู่กันอย่างเป็นชนบท ในเขตมรัคอูมีโรงแรมเพียง 4 แห่งและ เกสต์เฮาส์ 8 แห่ง เพื่อความปลอดภัยชาวต่างชาติไม่อนุญาติให้พักนอกเขตเมืองมรัคอู ด้วยความที่ทุกบ้านเผาถ่าน หมอกควันจะขึ้นทุกแห่ง ประกอบกับแสงสีทองหวานๆยามเย็น เป็นภาพที่ดูสวยงามอีกแบบ สรุปที่มรัคอูนี่มีกิจกรรมชมเมืองให้ดูทุกวันเช้าเย็น และช่วงเย็นไม่ค่อยมีลม หมอกควันก็จะยิ่งหนา ได้ภาพเจดีย์ที่ค่อยๆเลือนหายไปในกลุ่มควันแทน
เดินทางออกจากมรัคอู ต้องแวะผ่านเมืองไวสาลี Wethali ซึ่งห่างจากตัวเมืองมรัคอู ไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร เป็น1 ใน 4 อาณาจักรเก่าของอารากัน ซึ่งเชื่อกันว่าเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 มีการขุดพบจารึก และเหรียญที่มีตราราชวงศ์จันทราที่เคยปกครองที่นี้ ว่ากันว่าแม้ราชวงศ์จันทราจะสืบเชื้อสายจากพระศิวะ แต่ประชาชนนับถือศาสนาพุทธมหายาน จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 แผ่นดินแถบยะไข่ยังเป็นที่อยู่ของพวกอินเดียที่มาจากฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล และกษัตริย์ราชวงศ์มรัคอูทุกพระองค์ในยุคแรก ยังคงต้องบรรณาการแก่ราชวงศ์ที่ปกครองจิตตะกอง Chittagong ประเทศบังกะลาเทศในปัจจุปันอยู่ ปัจจุปันเราชมได้เพียงผังเมืองของซากของเมืองเก่านี้เท่านั้น ยังเหลือ พระสุ ตวง พญา (Hus Tuang Pre) พระพุทธรูปโบราณองค์สำคัญ สูง 5 เมตร ซึ่งแกะสลักจากหินก้อนเดียว เชื่อว่าทำขึ้นเป็นของคู่บ้านเมืองใน ค.ศ.327 หลงเหลืออยู่เท่านั้น
สิ่งสุดท้ายที่ทำก่อนจากมรัคอูคือการสักการะพระมหามุนี ที่มหามุนี พญา (Mahamuni Paya) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมรัคอู ประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นวัดที่สำคัญมากที่สุดวัดหนึ่ง สร้างอยู่บนเนินเขาซึ่งเคยประดิษฐาน พระมหามุนี (ปัจจุบันถูกอัญเชิญไปอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ตั้งแต่ ค.ศ.1784 โดย พระเจ้าโบดอว์พญา) จึงได้หล่อองค์มหามุนีองค์ที่หล่อขึ้นใหม่นี้แทน และชาวยะไข่ ก็เชื่อว่าจิตวิญญาณอันแท้จริงขององค์มหามุนีได้สิงสถิตอยู่ที่นี่ การได้มากราบไหว้พระมหามุนีจึงเป็นความเป็นสิริมงคลมากสำหรับชาวยะไข่ วัดมหามุนี พญา นี้จึงเป็นวัดที่มีการประดับประดาตกแต่งสวยงาม ประดับพระองค์เล็กมากมายและตามเสาตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นเรื่องเล่าในพุทธศาสนา บริเวณลานวัดมีต้นโพธิ์ที่ประชาชนมาเดินเวียนเทียนและกราบไหว้อยู่ด้วย
ส่วนพระมหามุนีนั้นเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า "ผู้รู้อันประเสริฐ" (The Great Sage) เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ชาวยะไข่แห่งเมืองธรรมวดี ในสมัยพุทธกาลเล่ากันว่าพระพุทธเจ้าเดินทางมาที่เมืองธรรมวดีพร้อมพระสงฆ์ 500รูป (อินเดียและยะไข่มีพรมแดนติดกัน) และพระเจ้าจันทสุริยะ ทรงต้อนรับพระองค์อย่างดี พระพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่ที่นี่นานถึง 1 สัปดาห์ พอจะเสด็จกลับ พระเจ้าจันทรสูรยะขอให้พระองค์ทรงฝากบางอย่างเพื่อให้เป็นที่เคารพบูชาสืบไป พระพุทธเจ้าจึงประทับเข้าสมาธิใต้ต้นโพธิ์อีก 1 สัปดาห์ ระหว่างนั้น คนเมืองยะไข่ช่วยกันหล่อพระองค์หนึ่งที่ดูเหมือนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จออกจากสมาธิ ทรงเห็นพระพุทธรูปดังกล่าวจึงตรัสว่า พระพุทธธรรมจะคงอยู่ไปอีก 5,000 ปี เชกเช่นเดียวกับพระพุทธรูปองค์นี้ที่เป็นตัวแทนพระองค์ พระมหามุนีจึงเป็นพระพุทธรูป “เหมือนจริง” ที่หล่อในสมัยพระพุทธเจ้า (Living Budha) ตามตำนานบอกว่าพระพุทธรูปที่หล่อเหมือนองค์พระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แค่ 5 องค์ อีกสององค์อยู่ในอินเดีย และอีก 2 องค์อยู่บนสวรรค์
ช่วงที่ดีที่สุดในการเดินทางเยือนยะไข่คือช่วง ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เนื่องจากอากาศกำลังสบายและไม่มีฝนตก ช่วงเช้ามีหมอกลงหนา เหมาะกับการชื่นชมทัศนียภาพของทะเลเจดีย์ ซึ่งเก่าแก่และสวยงามสมบูรณ์กว่าพุกาม
การเตรียมตัว
เหตุการณ์ความไม่สงบในเขตนี้มีขึ้นบ่อยๆ รัฐบาลพม่าจำกัดการเดินทางคนต่างชาติ จึงต้องค่อยเช็คข่าวก่อนเดินทาง ยิ่งถ้าไปด้วยตนเอง สถานที่แบบนี้แนะนำให้เดินทางเป็นกลุ่มโดยบริษัททัวร์ที่ชำนาญทางจะดีที่สุด ส่วนช่วงที่น่าเดินทางไปที่สุดซึ่งคือธันวาคมถึงกุมภาพันธ์นั้น
ช่วงเช้าอากาศจะเย็นมาก ราว 16-17 องศาและน้ำค้างลงเยอะ ประกอบกับจุดที่จะขึ้นไปชมทัศนียภาพยามเช้า ต้องปีนป่ายขึ้นไปโดยส่วนใหญ่ไม่มีทางเดินถางไว้ แนะนำให้เตรียมเสื้อและกางเกงเดินป่าแบบหนา พร้อมไม้เท้าเดินป่าเตรียมไป มิฉะนั้นอาจมีแมลงหรือไรหญ้ากัดได้ (ถูกจัดมาแล้วเป็นผื่นเม็ดเล็กๆระยิบทั้งข้อมมือ ข้อเท้า ใบหน้า ลำคอทุกส่วนที่ไม่อยู่ในร่มผ้า) แนะนำให้ติดยารักษาโรคแบบมาตราฐานไป เช่นแก้ปวด ยาทาแก้ผื่นคัน เป็นต้น
ภาพด้านบนเป็นบรรยกาศในหมู่บ้านที่มรัคอู
การเดินทางเข้าไปไม่สะดวก อาหารก็ไม่ได้หลากหลาย ควรเตรียมอาหารแห้งที่ชื่นชอบและซอสต่างๆไปทานเอง ขนมขบเคี้ยวก็ไม่ได้มีขาย หาร้านของชำยากมากๆ แนะนำให้ซื้อไปเต็มที่ เหลือก็แบ่งชาวบ้าน เขาน่าจะยินดีมาก ส่วนคนที่อยากเอาอุปกรณ์เครื่องเขียนและของเล่นเข้าไปแจกเด็กๆตามหมู่บ้านก็เป็นเรื่องน่ายินดี
Comments