top of page

Kolkata, India

Updated: Mar 6, 2020

เดินทาง ธันวาคม 2019 ระยะเวลา 3 วัน

Victoria Monument, Kolkata ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น

นักท่องเที่ยว 2ประเภทเท่านั้นที่ไปอินเดีย คนที่ไปครั้งเดียวเข็ด และคนที่ไปแล้วไปอีก อินเดียเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์มากขนาดนั้นล่ะ สำหรับตัวเองคือไปมา 9 ครั้งในช่วงไม่ถึง 9ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากเส้นทางง่ายๆ เดลี - ทัชมาฮัล – จัยปุระ และก็ไปทั่วจากนั้นเป็นต้นมา ตั้งแต่ราชาสถาน แคชเมียร์ ศันตินิคตัน ทมิฬนาดู เลห์-ลาดักซ์ มุมไบ-ออรังกาบัต สปิติ และล่าสุด โกลกาตา-พาราสี-คยา

สิงโตหินอ่อนหน้า Victoria Monument

โกลกาตาเคยเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยการปกครองของอังกฤษ ยุคบริติชราช British-Raj(ปี ค.ศ. 1858-1947) จึงทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาสมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 เป็นเวลากว่า 200ปี ยุคนั้นเจ้าครองแค้วนต่างๆของอินเดียจะมีวังอยู่ที่โกลกาตา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1911 ได้มีการย้ายเมืองหลวงไปเดลี

Raj Bhavan หรือบ้านพักของผู้ปกครองอินเดียในครั้งที่โกลกาตายังเป็นเมืองหลวงสมัย British-Raj

สำหรับการเที่ยวโกลกาตา สำคัญที่จะรู้ว่าโกลกาตาถูกวางผังเมืองไว้โดยแบ่งเมืองออกเป็น White Town (สำหรับชาวตะวันตก) และ Black Town(สำหรับคนท้องถิ่น) ตั้งแต่สร้างเมือง และมีการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในยุคที่ Lord Richard Wellesley เป็นผู้ปกครองโกลกาตาในปี ค.ศ. 1798-1805 เขามีความคิดที่จะสร้างเมืองส่วนที่เป็น White Town ให้เป็น “City of Palaces”เพื่อเป็นหน้าตาของอังกฤษ ซึ่งเขาได้สร้าง Raj Bhavan หรือบ้านพักของผู้ปกครองอินเดีย หรูหราดั่งราชวัง โดยเขากล่าวไว้ว่า “India should be governed from a Palace, not a counting house”ซึ่งการก่อสร้างนี้ใช้เวลานานถึง 4ปี และใช้เงินกว่า 63,000ปอนด์ (เทียบเท่าเงินปัจจุปัน 180ล้านบาท) และว่ากันว่านี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาถูกสั่งย้ายกลับอังกฤษ

อาคารที่สำคัญที่สุดในโกลกาตา Victoria Monumentถูกสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานไว้อาลัยแด่พระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ใช้เวลาสร้างกว่า 20ปี (1901-1921) เป็นหินอ่อน Makrana สีขาวทั้งหลังที่ขุดจากเขตราชาสถานซึ่งเป็นหินอ่อนแบบเดียวกับที่ใช้สร้างทัชมาฮัล ออกแบบโดยผสมผสานสไตล์อังกฤษกับโมกุลของอินเดีย โดยผสมกลิ่นไอของอียิปต์ อิสลาม และเวเนเชียเข้าด้วยกัน เวลาที่เหมาะกับการมาเยี่ยมชมคือช่วงเช้าตรู่ จะได้ภาพตัวตึกที่สะท้อนบนน้ำในสวนที่รายล้อมตัดกับหมอกยามเช้าเป็นภาพที่ดูชวนฝัน เสร็จแล้วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งคนจะน้อยมาก ช่วงเช้าๆ

Victoria Monument ในยามค่ำคืน

หากมาในช่วงเย็นควรวางแผนเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ก่อนซัก 16.30 ใช้เวลา 30นาทีก็น่าจะเกินพอ และค่อยย้ายไปสวน เพราะจะปิดให้เข้าตอน 17.00 แต่ยังอยู่ต่อได้ถึง 17.30 จะได้ถ่ายรูปตึกทีมีแสงไฟสะท้อนลงในน้ำเป็นภาพอีกอารมณ์หนึ่ง

White Town คือส่วนที่เต็มไปด้วยตึกสไตล์ยุโรปที่ล้อมรอบ Dalhousie Square ซึ่งเป็นจตุรัสที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง และเป็นส่วนที่เรียกว่า European Kolkata เพราะในยุคที่เป็นเมืองหลวงของบริติชราช ขุนนาง คหบดี เชื้อพระวงศ์จากแค้วนต่างๆเดินกันว่อนในเมืองนี้ ปัจจุปันอาคารที่สำคัญในบริเวณนี้ ได้แก่ Raj Bhavan ที่พำนับของผู้ปกครองอินเดีย The General Post Officeไปรษณีย์กลาง Writer’s Building อาคารสำนักงานเก่าของบริษัทอินเดียตะวันออก St. Andrew’s Kirk และโบสถ์เซนแอนดรูว์ ย่านนี้ยังเป็นกลางเมืองของโกลกาตาจนถึงทุกวันนี้ เสียดายที่ตึกต่างๆไม่ได้ถูกบูรณะ ยังเห็นเค้าโครงของตึกที่สง่างามอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมองดูลายละเอียดบนตัวตึก แต่นอกนั้นถูกทิ้งให้โทรมมาก เพราะหลังจากที่ย้ายเมืองหลวงไปเดลี ความสำคัญก็ตกลงเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงหลังประกาศเสรีภาพของอินเดีย เมืองตกไปอยู่ในความวุ่นวาย จนถึงขั้นเสื่อมโทรม

ในยุคที่ยังเป็นเมืองหลวง ความเจริญทุกด้านและเศษฐกิจดี และไม่ไกลจากจีนมาก ก็มีพวกชาวจีนอพยพหนีสงครามฝิ่น สมัยสิ้นราชวงศ์ฉิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ชาวจีนเหล่านี้มาค้าขายในโกลกาตากันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 และไม่เคยจากไปอีก ทำให้มีชุมชนจีนขนาดใหญ่ในโกลกาตา และเป็น China Town เดียวในประเทศอินเดียเสียด้วย เคยมีชาวจีนอาศัยอยู่มากถึง 20,000คน โดยยืดอาชีพฟอกหนังเป็นหลัก แต่ในช่วง 50ปีที่ผ่านมาได้มีการอพยพไปอยู่ประเทศอื่นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชุมชนเล็กลงมาก แต่ก็ซึ่งขาดไม่ได้เลยที่จะไปเยี่ยมชมตลาดที่ชาวจีนเหล่านี้ยังค้าขายอยู่ ซึ่งมีซาลาเปา ปาทังโก้ทอดขายกัน

เมืองโกลกาตาถือเป็นเมืองที่มีการหลอมรวมของชนชาติต่างๆ ซึ่งแต่ละชาติยังคงอาศัยอยู่เป็นกลุ่มและมีชุมชนที่ติดๆกัน ถัดจากตลาดจีน จะเป็นพวกอิรัก ที่อพยพเข้ามาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ดำรงอาชีพทำเครื่องหนังเป็นหลัก มีประชากรอยู่กันกว่า 10,000คน

ยังมีชาวยิวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแบกแดด เคยมีมากถึง 6,000คน แต่ลดลงเหลือเพียง 60คน หยิบมือเดียว จากการสร้างประเทศอิสราเอล ทำให้ส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่รวมกัน เหมือนที่เคยเจอในอียิปต์ นอกจากนั้นยังมีชาวอารเมเนีย ที่เข้ามาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิ์อัครบา ซึ่งชาวอาเมเนียมีชื่อเสียงทางด้านการค้าขายแต่อดีต ปัจจุปันแทบไม่มีชาวอาเมเนียเหล่าแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่แต่งงานและกลืนเข้าไปเป็นชาวอินเดีย จึงเหลือบ้านอยู่เพียงไม่กี่หลังที่ยังมีหลักฐานให้เห็นอยู่ ส่วนชาวทิเบตเข้ามาค้าขายขนสัตว์และยาสมุนไพร่ ส่วนใหญ่มาจากฝั่งสิขิม ชาวอัฟกานิสทานก็เข้ามาค้าขายผลไม้แห้งเป็นกอบเป็นกำ

ปัจจุปันยังเหลือชุมชนที่เป็นลูกครึ่งชาวคริสยุโรปอยู่เป็นชุมชนใหญ่ในเขตกลางเมือง ซึ่งจะมีโบสถ์เป็นศูนย์กลาง และทุกปียังมีงานคริสมาสขนาดใหญ่กลางเมือง ช่วงที่เราไปเยี่ยมเป็นช่วงปลายปีพอดี ร้ายเบเกอร์รี่ในเขตนี้จึงอบ fruit cake ขายกัน ซึ่งยังคงเป็นธรรมเนียมของคนในเขตนี้ที่จะยังปฎิบัติกันอยู่ น่าสนใจทีเดียว จากที่เห็นชุมชนแบบนี้ทั่วโลกจะพบว่าชุมชนต่างๆนี้ยังใช้ชีวิตและพยายามเก็บธรรมเนียมรุ่นปู่ย่าที่ก่อตั้งชุมชนกันอย่างเหนียวแน่นเหมือนการพยายามสร้างรากเหงาให้กับตัวเองในที่ใหม่

การเดินเล่นในเขตนี้ ได้เห็นวิถีชีวิตคนเมืองหลากหลาย มีตลาด ร้านของสด ร้านของชำ และร้านอาหารถิ่น โดยทั่วไปร้านอาหารมีไม่มาก คนพื้นที่ยังนิยมทำอาหารเองในเขตนี้

แต่ที่มีมากคือร้านน้ำชา มีแทบทุกมุม โดยแต่ละร้านจะทำสด ต้มนมสดและใบชาพร้อมใส่เครื่องเทศแบบชาอินเดียแท้ๆ ซึ่งทุกร้านจะมีสูตรของตัวเอง อารมณ์ชาไทยเรา ที่เก๋คือจะเสริฟในถ้วยชาเล็กๆแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งทำด้วยดินเผาที่ดู eco มาก (เหมือนกระถางดินเผาใส่ต้นไม้) เผาเสร็จเอามาเรียง แล้ววางไว้ข้างๆเตา เอามาเสริฟชาปรุงเสร็จร้อนๆ ดื่มหมดจอกแล้วทิ้งลงพื้นให้แตก เพื่อไม่ให้ใครเอากลับมาใช้ได้อีก ใช้ครั้งเดียวจริงๆ สะอาดมากกกก (แต่ที่เล่ามาไม่เห็นตรงจุดไหนมีการทำความสะอาดถ้วยเลยนะ ชอบมากกก) ถ้วยเหล่านี้ทำด้วยดินจึงย่อยสลายได้ แต่กองกันเป็นขยะกองโตมากๆข้างร้านทุกร้าน ทุกร้านจะมีขนมใส่ขวดโหลไว้เป็นขนมที่ไว้กินคู่กับชา แต่อยากจะบอกว่าชาที่โกลกาตานี่เข้มข้นมากที่สุดเท่าที่กินมาในอินเดียเลย เขาจึงนิยมดื่มเป็นจอกเล็กๆ ราคาราว 5-10รูปี บางร้านมีจอกเล็กมากแบบ espresso shot เพราะดื่มนิดเดียวตื่น

แมัปัจจุปันโกลกาตาจะเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจาก นิวเดลี และมุมไบ เมืองนี้เคยได้ชื่อว่ามี Street Sleeper มากที่สุด เพราะมีคนที่เดินทางเข้ามาหางานทำมากมายจากรัฐทางเหนือ คนเหล่านี้ไม่มีเงินพอที่จะเช่าบ้านอยู่ และรายได้ก็แค่พอหาเช้ากินค่ำ จึงอาศัยนอนข้างถนน ซึ่งจะอยู่อย่างมีระเบียบ มีการทำสัญญลักษณ์จองที่ไว้ด้วยว่านอนตรงนี้ประจำ เช่นแขวนผ้าไว้ ตกกลางคืนก็กลับมานอนใหม่ที่เดิม เช้าสะบัดผ้าเก็บ แล้วอาบน้ำล้างหน้าจากก็อกน้ำสาธารณะข้างทาง ซึ่งจะมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในเมือง อยู่กันอย่างง่ายๆเสื้อผ้าสมบัติมีอยู่กระเป๋าเดียวที่เอามาทำหมอนนอน เดี๋ยวนี้ยังคงมีคนนอนข้างถนนอยู่ แต่น้อยลงมากจากเมื่อ 10ปีก่อน เพราะรัฐคอยกวาดล้าง เพื่อให้ถนนอินเดียดูปลอดภัยมากขึ้น และเศรฐกิจของอินเดียก็ดีขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

สำหรับประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ผ่านความรุ่งโรจน์ ตกต่ำ และการปกครองโดยชนชาติต่างๆมากมาย การได้มองเห็นและสัมผัสวิถึชีวิตของชาวเมืองจึงเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของการเที่ยวอินเดีย และโกลกาตาเป็นเมื่องที่ควรเที่ยวแบบเจาะลึกตามชุมชนต่างๆเพื่อดูการใช้ชีวิตของผู้คนที่ยังคงยืดเอาขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตที่ใช้กันมาเป็นร้อยปี เหมือนว่าเวลาไม่ได้ผ่านไปเท่าไหร่เลย


ด้วยเหตุนี้ เราจึงไปเดินเที่ยวย่านกุมารทุลีKumartuli ซึ่งเป็นย่านทำหุ่นที่ใช้ในการแห่เทศกาล Durga Puja ซึ่งจัดทุกปีเป็นเวลา 5 วัน ในช่วงเดือนตุลาคม โดยมีงานแห่ เฉลิมฉลองและบูชา พระแม่ทุรคาซึ่งเป็นอีกปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี ในวันสุดท้ายของเทศกาลนี้ หุ่นเทพที่ทำด้วยดินเหนียวทาสีและแต่งองค์ทรงเครื่องเหล่านี้จะถูกนำไปลอยในแม่น้ำ โดยหุ่นจะละลายและกลับคืนสู่ธรรมชาติ ว่ากันว่าเทศกาลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อตั้งเมืองโกลกาตา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาวเมือง Robert Clive ได้จัดงานบูชาพระแม่ทรุคาซึ่งเป็นตัวแทนความกล้าหาญ และชนะศัตรูรอบทิศ ซึ่งชาวเมืองนับถือ และเทศกาลนี้ก็มีจัดกันเรื่อยมาและยิ่งมายิ่งใหญ่โต

ที่กุมารทุลี Kumartuli นี้มีช่างปั้นอยู่ราว 150ครัวเรือน ซึ่งเป็นการทำมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ชาวเมืองท้องถิ่นที่มีฐานะดีวันดีคืนจากการค้าขายกับชาวยุโรป จะแสดงถึงความร่ำรวยด้วยการจัดงานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คหบดีว่าจ้างช่างปั้นมากฝีมือจากส่วนอื่นของอินเดียมา ครอบครัวช่างปั้นและครอบครัวของผู้จัดทำเครื่องประดับและอุตสาห์กรรมที่เกี่ยวข้องก็ย้ายตามกันเข้ามาอยู่ในส่วนของ Black Town (ซึ่งเป็นส่วนของคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรปอยู่ในยุคบริชทิชราช) จนแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่เทศกาล Dunga Puja ยังคงเป็นงานรื่นเริงและช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง

กระบวนการในการสร้างสรรค์งานปั้นเป็นที่น่าสนใจที่จะได้มีโอกาสเห็นกับตา ช่างจะขึ้นโครงด้วยฟาง แล้วเอาดินเหนียวมาปั้นต่อ รอให้ดินเหนียวแห้ง เติมดินเหนียวผสมเศษผ้าบางๆเกลี่ยอีกรอบ จะได้พื้นผิวที่เรีนบรื่น รอให้แห้งอีก 7-10วันแล้วลงสี เมื่อสีแห้งจะมีช่างที่เชี่ยวชาญเฉพาะแต้มสีตา เหมือนเป็นการใส่วิญญาณให้แก่หุ่น จากนั้นจึงตกแต่งด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับ

หุ่นที่นิยมทำพระอุมาในปางพระแม่กาลี มีกายสีน้ำเงินแลบลิ้นยาว มีเลือดติดอยู่ และมักมีพระศิวะถูกเหยียบอยู่แทบเท้า ที่พระอุมาทรงเป็นปางนี้ก็เพราะต้องปราบอสูรทารุณซึ่งได้รับพรไม่มีวันถูกฆ่าตายได้ด้วยบุรุษใด หากเลือดหยดลงสู่พื้นจะฟื้นขึ้นมาใหม่ ไม่มีเทพใดปราบอสูรนี้ได้ ร้อนถึงพระอุมาที่ต้องแปลงเป็นพระแม่กาลีฆ่าอสูรแล้วเลียเลือดจนสิ้นจึงปราบได้ แต่ด้วยความที่ดีพระทัยที่ทรงได้รับชัยชนะในครั้งนี้ พระอุมาในปางพระแม่กาลีจึงเต้นระบำอย่างสำราญหทัยจนลืมพระองค์ยกพระบาทกระทืบลงพื้นโลกอย่างเต็มแรง ซึ่งโลกจะแตกสลาย พระศิวะซึ่งเป็นสวามีจึงเอาร่างมาขวาง ทำให้พระแม่กาลีนึกขึ้นได้กลายร่างกลับมาเป็นพระอุมา

นอกจากการทำหุ่นไว้แห่แล้ว ปัจจุปันยังมีงานปั้นต่างๆที่ช่างจะทำในช่วงไม่ใช่หน้าเทศกาล ซึ่งเป็นงานสมัยใหม่ และถูกส่งไปทั่วอินเดีย

อีกที่ทีพลาดไม่ได้คือตลาดดอกไม้ Mallick Ghat Flower Marketตรงสะพาน Howrah ซึ่งเป็นสะพานที่มีการสัญจรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว โดยสะพานนี้ยาว 1.528ฟุตและกว้าง 62ฟุต บนสะพานไม่อนุญาติให้ถ่ายรูป ที่ตลาดดอกไม้อายุ 125ปี Mallick Ghat Flower Marketนี้ นอกจากจะเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของอินเดียแล้ว ดอกไม้กว่า 80เปอร์เซนต์ของตลาดประมูลชื่อดังที่อัมสเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โอ๊กแลนด์ แระเทศนิวซีแลนด์ และ ดูไบ ถูกส่งออกจากที่นี่ ตลาเปิดตั้งแต่ตี 4 สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูปที่นี้จะมีอะไรให้ถ่ายเยอะมาก ตลาดแบ่งเป็นโซนและค่อนข้างใหญ่ ที่นี้แม้จะเป็นตลาดดอกไม้ก็เหมือนทุกที่ในอินเดีย ไม่มีผู้หญิงมาขายของกันเท่าไหร่ โซนด้านในจะขายพวงมาลัยซึ่งมีคนงานชายนั่งร้อยกันง่วนเป็นพวงใหญ่ๆ ด้านนอกเป็นลานกว้างขายดอกดาวเรืองเป็นส่วนใหญ่ แต่มีขยะ มากมายกองพื้น คนที่มาซื้อจะซื้อกันเยอะมาก พวงหนึ่งน่าจะมีดอกดาวเรืองราว 100ดอก เป็นดอกใหญ่ๆอ้วนๆ หนักใช่ย่อย นอกจากพ่อค้า จะมีกุลีที่มาอำนวยความสะดวกแบกดอกไม้ให้ผู้ซื้อซึ่งสังเกตุได้จากตระกร้าที่เทินไว้บนหัว

ส่วนที่ติดกับท่าน้ำ พ่อค้าและคนงานที่ทำงานในตลาดนี้จะใช้เป็นที่อาบน้ำหลังจากทำงานกันมาหนักแต่เช้ามืด และตรงนี้จะมีบริการทางศาสนาฮินดูที่พรหมทำพิธีต่างๆให้ด้วย จึงสามารถเห็นพิธีการได้จากตรงนี้ นอกจากนี้แล้วบริเวณนี้ เราจะได้เห็นวิวของสะพาน Howrah Bridge ซึ่งเป็นสะพานแขวนเหล็กที่ยาวเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีการสัญจรมากที่สุด เราสามารถเดินข้ามสะพานนี้เพื่อไปสถานีรถไฟ Howrah train station ได้

สำหรับคอพิพิธภัณฑ์คงต้องไปเยี่ยม Indian Museum ซึ่งด้วยตัวตึกเองก็เป็นของเก่าแล้ว ที่นี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มีเก็บตั้งแต่ฟอสเซลอายุหลายล้านปี หินหลายหลายสำหรับนักธรณีวิทยา งานภาพเขียนของอินเดีย งานแกะสลักหินล้ำค่า พระพุทธรูป และที่สำคัญมากสำหรับชาวพุทธคือ พระบรมสารีริธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งจัดแสดงตรงกลางห้องจัดแสดงกระเบื้องชั้นล่างของพิธภัณฑ์ พระและชาวพุทธที่มีโอกาสมาที่เมืองโกลกาตามักต้องแวะมากราบไหว้บูชาที่พิพิธภัณฑ์นี้

หากจะพูดว่าอะไรเป็นสัญญาลักษณ์ของโกลกาตา คงต้องเป็นรถแท็กซี่สีเหลือง Ambassador Taxi ที่วิ่งกันทั่วเมือง รถรุ่นนี้เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ผลิตในอินเดีย โดยบริษัท Hindustan Motors ในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งแกะแบบมาจากรถ Morris Oxford 1956 ของอังกฤษ รถยนต์รุ่นนี้ถูกใช้เป็นรถประจำตำแหน่งในราชการหลายสิบปี ซึ่งรถในราชการนั้นจะเป็นสีขาวและมีธงประจำอยู่หน้ารถบ่งบอกหน่วยงาน เนื่องจากรถนี้ดูแลง่าย คงทนมาก (แต่ไม่มีแอร์) จึงนิยมมาทำเป็นแท็กซี่แต่ต้องเป็นสีเหลือง เป็นที่น่าเสียดายมากว่า Hindustan Motors ได้หยุดผลิตรถนี้ในปี 2014 ปัจจุปันรถแท๊กซี่รุ่นใหม่ในเมืองจะเป็นสีขาวของ TATA หรือ ISUZU ซึ่งขาดเสน่ห์ ผู้ชื่นชอบความย้อนยุคพลาดไม่ได้ที่จะต้องเก็บภาพรถรุ่นนี้ที่วิ่งในส่วนที่เป็นตึกยุโรปโบราณ ถือเป็นสัญญาลักษณ์สำคัญของเมืองเลยทีเดียว เสียดายที่ภาพแบบนี้จะมีให้เห็นน้อยลงตามกาลเวลา

 

ประวัติของโกลกาตา

อันที่จริงก่อนที่ก่อนหน้ายุคบริติชราช British-Raj อังกฤษได้ปกครองบรรดาดินแดนในอนุทวีปอินเดียผ่านบริษัทอินเดียตะวันออกกว่าร้อยปีผ่านการสร้างเมืองท่าที่โกลกาตานี้ เดิมทีบริเวณแถวนี้เป็นที่ราบปากอ่าวซึ่งมีหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆสามแห่ง Kalikata กาลิกาตา Sutanuti สุตนุติ และ Gobindapur โคพินทปุระ ในปีค.ศ.1686 บริษัทอินเดียตะวันออกมาเปิดโรงงานแรกขึ้นที่นี้ และเมืองโกลกาตาได้ถือกำเนิด แต่ก่อนจะถึงตรงนี้ต้องเล่าเท้าความไปถึง การขยายอาณาจักรของอังกฤษในยุคแรก ได้มาถึงอินเดียตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1620 ยุค จักรพรรดิ์ จาฮานจีร์ Emperor Jahangir ของราชวงศ์โมกุล แต่ไม่ได้รับความสนใจ จนปี ค.ศ.1644 พระธิดาของจักรพรรดิ์ซาร์จาฮาน Shah Jahan (ผู้สร้างทัชมาฮัล) ถูกไฟลวก คณะหมอหลวงไม่สามารถรักษาได้ แต่ได้แพทย์อังกฤษที่มากับบริษัทอินเดียตะวันออกรักษาหาย องค์จักรพรรดิ์จึงยอมให้อังกฤษเข้ามาค้าขายในเมืองโอริสสา Odisha และจน ปี ค.ศ. 1668 อังกฤษได้เจรจาโดยให้ผลประโยชน์แต่ผู้ครองแค้วนในยุดนั้นคือ Shaista Khan ซึ่งเป็นลุงของจักรพรรดิ์ออรังเซบ Emperor Aurangzeb (บุตรชายของซาร์จาฮานที่ชิงอำนาจจากบิดาและขังพระองค์ไว้ในพระราชวังอัคราซึ่งตรงอยู่บนแม่น้ำอีกฝั่งของทัชมาฮัลเพื่อให้ซาร์จาฮานได้มองเห็นทัชมาฮัล อนุสรสถานที่พระองค์สร้างขึ้นเองเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมเหสีมุมตัส) ขอพื้นที่เพื่อจัดตั้งโรงงานและท่าเรือที่โกลกาตา เมืองจึงถือกำเนิดขึ้น

ต่อมาเมื่อได้ทำการต้าอย่างเป็นล่ำสันกับอินเดียผ่านเมืองโกลกาตานี้ เมืองก็เข้าสู่ยุครุ่งเรือง นักขุดทองทั้งหลายต่างเดินทางมาที่นี่เพื่อกอบโกยจากการค้าเครื่องเทศ เครื่องหนัง อัญมณ๊ และแร่ต่างๆ เมืองถูกแบ่งออกเป็น White Town และ Black Town ชัดเจน โดยคนยุโรปจะอยู่แต่ในเขตคนขาวและตึกรามบ้านช่องถูกเนรมิตให้เหมือนประหนึ่งยังอยู่ในยุโรป ในส่วน Black Town ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมืองก็เริ่มมีชาวอินเดีย และชาวตะวันออกกลางและจีนเข้ามาค้าขาย และใช้แรงงานกันมากมายตั้งรกรากจนเป็นชุมชนต่างๆ ทำให้โกลกาตาได้ชื่อว่าเตาหลอมวัฒนธรรม Culture Melting Pot ของแท้ และกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองจนทุกวันนี้



 

การเตรียมตัว

ภาพหมอกยามเช้า สายหมอกนี้คือฝุ่น PM 2.5 แบบเข้มที่ตกมาปกคลุมพื้นพร้อมน้ำค้างยามเช้า กลับจากทริปนี้ป่วยหนักมาก

โกลกาตาเป็นเมืองใหญ่ที่วุ่นวายเหมือนทุกเมืองในอินเดีย และอาจจะยิ่งกว่า ด้วยว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเขตเบงกอลหรือทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จึงเป็นศูนย์กลางทางเศฐษกิจ ทำให้มีแรงงานจากรัฐทางเหนือไหลเข้ามาทำงานที่นี้ด้วยมากมาย เมืองจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายส่งเป็นโซนๆ เครื่องหนัง ผ้าทอ ดอกไม้ เครื่องเทศ ฯลฯ และเป็นเมืองที่มีมลภาวะพิษสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว โดยเฉลี่ยค่า PM 2.5 จะอยู่ที่ 150 AQI ขึ้นไป สำหรับคนที่แพ้ฝุ่นควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเฉกเช่นเดียวกับเมืองทั่วไปในอินเดีย น้ำประปาจะไม่ได้ใสสะอาดเหมือนบ้านเรา การเอาน้ำนี้มาล้างหน้า ล้างผัก ผลไม้ ป้วนปาก ควรไตร่ตรองพิจารณาใช้น้ำดื่มขวดที่มีขายกันอยู่จะดีกว่า อาหารโดยทั่วไปเป็นสไตล์แขก เน้นกินร้อนจะดีกว่า และร้านอาหารในอินเดียต้องรออาหารนาน เนื่องจากเขาจะปรุงอาหารต่อเมื่อมีลูกค้าสั่งเท่านั้น จึงควรเผื่อท้อง อย่าให้หิวมากตอนเข้าร้าน สำหรับห้องน้ำถือว่าสะอาดเมื่อเทียบกับสภาพทั่วไปในเมือง เพียงแต่สภาพอาจจะเก่าและตกยุคอยู่

274 views

Comments


bottom of page